คลินิกต่อมทอนซิล
ต่อมทอนซิลอักเสบ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

         ต่อมทอนซิลเป็นต่อมที่อยู่ในกลุ่มของเนื้อเยื่อประเภทน้ำเหลือง ซึ่งสามารถพบได้หลายตำแหน่ง โดยตำแหน่งแรกเป็นตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจนอยู่บริเวณด้านข้างของช่องปาก นอกจากนี้ยังพบได้ที่บริเวณโคนลิ้น และในช่องของโพรงจมูก 
หน้าที่หลักของต่อมทอนซิล 
          ต่อมทอนซิลเป็นต่อมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีเม็ดเลือดขาวอยู่ภายในต่อมหลากหลายชนิด ดังนั้นหน้าที่หลักของต่อมจึงมีเอาไว้เพื่อป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินอาหารได้ หน้าที่รองลงมาของต่อมทอนซิลคือมีไว้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ

สาเหตุของการเกิดต่อมทอนซิลอักเสบ
         ต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่อมทอนซิอักเสบกว่า 70 - 80% นั้นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ และสาเหตุส่วนที่เหลือมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยตัวเชื้อทั้งหมดนั้นอาจจะอยู่ในน้ำลาย เสมหะ อากาศที่หายใจเข้าไป การสัมผัสกับเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ตามจุดต่างๆ รอบตัวแล้วนำมือหรือส่วนต่างๆ ของร่างกายที่โดนเชื้อมาสัมผัสปากหรือจมูก รวมไปถึงการทานอาหารหรือดื่มน้ำจากภาชนะเดียวกันกับผู้ติดเชื้อก็ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลได้ 

อาการของต่อมทอนซิลอักเสบ
         ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว คัดจมูก น้ำมูกไหลแต่ไม่มาก มีอาการคัดจมูก กลืนอาหารลำบากเพราะมีอาการเจ็บคอร่วมด้วยและจะเจ็บอย่างมากตอนกลืนอาหาร ในบางรายอาจจะมีอาการปวดหูร่วมด้วย เพราะอาการอักเสบของต่อมทอนซิลที่คออาจจะส่งผลไปถึงในส่วนของหู เพราะหูชั้นกลางนั้นมีเส้นทางที่เชื่อมกับส่วนของลำคอ ต่อมทอนซิลเมื่อเกิดอาการอักเสบก็จะมีขนาดโตขึ้น มีอาการแดง อาจจะมีของเหลวสีคล้ายหนองปกคลุม 

การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ 
         การรักษาแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ การดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง และการเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา 
         1. การดูแลรักษาด้วยตนเอง
              -
 พักผ่อนให้เพียงพอ 
             - ดื่มน้ำให้มากๆ ไมน้อยกว่าวันละ 8 - 10 แก้ว 
             - ถ้ามีไข้สูงให้เลี่ยงการอาบน้ำและเปลี่ยนไปเป็นเช็ดตัวแทน 
             - หากมีอาการเจ็บคอให้ทานอาหารอ่อนที่สามารถทานได้ง่ายเช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ที่ไม่ร้อนจัดเกินไป 
             - ไม่ทานอาหารที่มีรสจัด หรือเผ็ดจัดเพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่ต่อมทอนซิลได้ 
             - ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ 
             - แยกของใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่นที่ไม่เป็นโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย 
             - หากมีอาการปวดหัวให้ทานยาพาราเซตามอล 
             - บ้วนปาก และกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก 
             - รักษาความสะอาดภายในช่องปาก บ้วนปากและแปรงฟันหลังทานอาหารเสร็จเพื่อไม่ให้มีเศษอาหารตกค้างที่จะกลายเป็นสาเหตุให้อักเสบมากขึ้น 
             - อมยาที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ 
             - หลีกเลี่ยงการใช้เสียงจนกว่าจะหาย 
          2. การเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา 
             - หากมีอาการเจ็บคอร่วมกับมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต จะต้องเข้าพบแพทย์เพราะไม่สามารถรักษาด้วยตนเองได้เพราะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียต่อมทอนซิลเป็นหนอง 
             - เมื่อมีอาการเป็นไข้และรักษาด้วยตนเองไม่หายภายใน 2 - 3 วัน 
             - เมื่อมีอาการหายใจลำบาก อันเนื่องมาจากต่อมทอนซิลบวมโตจนส่งผลต่อการหายใจ 
             - กินอาหารได้น้อย หรือไม่ได้เลยอันเนื่องมาจากอาการเจ็บคอ 
             - หากมีอาการทอนซิลอักเสบบ่อยๆ อาจจะกลายเป็นทอนซิลอักเสบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ บ่อย สุดท้ายแพทย์อาจจะพิจารณาตัดต่อมทอนซิลออก 
             - การตัดต่อมทอนซิลแพทย์จะพิจารณาจาก เมื่อผู้ป่วยมีภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง รักษาด้วยยาไม่ได้ผล ในปีหนึ่งมีการอักเสบหลายครั้งจนกระทบกับชีวิตประจำวัน 
             - เมื่อผู้ป่วยมีอาการต่อมทอนซิลโต จนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันเช่น หายใจไม่ออก มีอาการนอนกรน หรือสภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับบ่อยๆ 
             - ผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็งต่อมทอนซิล การผ่าตัดต่อมทอนซิลออกนั้นจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิล ทำให้ลดการเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ และไม่มีข้อเสียแต่อย่างใดหากตัดต่อทอนซิลทิ้งไปหากตัดทิ้งได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะต่อมทอนซิลที่ถูกตัดออกมักจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีหากยังปล่อยเอาไว้ อีกทั้งภายในร่างกายมีต่อมน้ำเหลืองมากมายที่สามารถทำงานในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรคแทนต่อมทอนซิลได้ ดังนั้นการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกจึงไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง 

ขอบคุณข้อมูลจาก : 
https://www.honestdocs.co