คลินิกปอดบวม
"โรคปอดบวมในเด็ก"
โรคปอดบวมเป็นโรคที่สำคัญมากในกลุ่มอาการไข้หวัด และปอดบวม เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจชนิดรุนแรง ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตได้มาก โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อย เด็กอายุต่ำกว่า 1ปี เด็กขาดอาหารหรือเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด
สาเหตุของโรคปอดบวม
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส และ แบคทีเรีย ซึ่งมักจะเริ่มโดย เป็น หวัดก่อน 2-3 วัน การติดต่อโดยเชื้อเข้าทางระบบหายใจเช่นเดียวกับโรคหวัด ดังนี้
1. การหายใจเอาเชื้อโรคที่มีอยู่ในอากาศเข้าไปโดยตรง
2. การไอจามรดกัน
3. การคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นปอดบวม?
มีไข้ บางรายอาจมีอาการหนาวสั่น ไอมีเสมหะ อัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ หรือหอบ ในบางรายอาจมีอาการอื่นๆ เช่น เจ็บชายโครงขณะหายใจลึกๆ หรือไอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ถ้าอาการปอดบวมเป็นรุนแรง อาจมีการหายใจลำบาก หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ริมฝีปากเขียว อัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ ขึ้นกับอายุของเด็ก ดังนี้
- เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือนมีอัตราการหายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
- เด็กอายุ 2-12 เดือนมีอัตราการหายใจมากกว่า 50 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
- เด็กอายุ 1-5 ปีมีอัตราการหายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
การวินิจฉัย
ดูจากประวัติผู้ป่วยคือ มีไข้ ไอ หอบ ร่วมกับการตรวจร่างกายจะพบว่ามีเสียงเสมหะผิดปกติในปอด กรณีที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดเสียงหายใจบริเวณนั้นจะเบาลง เคาะปอดแล้วได้เสียงทึบกว่าส่วนอื่น ในรายที่เป็นรุนแรงจะตรวจพบค่าออกซิเจนต่ำ โดยอาจเอกซเรย์ปอดและเจาะเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัย นอกจากนี้การตรวจเพาะเชื้อเสมหะในผู้ป่วยบางรายอาจช่วยในการวินิจฉัยและรักษาได้
การรักษา
ในเด็กที่ป่วยเป็นปอดบวมในระยะแรก หรือไม่รุนแรงมีอาการไข้สูง ไอ หายใจเร็ว ควรพาไปรับการรักษาจากแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะและให้มาดูแลที่บ้านเช่นเดียวกับโรคหวัด
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคโดยไม่ควรให้เด็กใกล้ชิดผู้ป่วยทุกประเภท
2. หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปอยู่ในที่แออัด
3. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีควรดูแลที่บ้านไม่ควรส่งไปเลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็ก
4. ถ้าเด็กมีอาการไอ จาม มีน้ำมูกควรพิจารณาใช้ผ้าปิดปากและจมูก
5. ควรทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ
6. ฝึกหัดให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ไม่ขยี้ตาหรือจมูก
7. ควรดูแลความสะอาดของบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
8. เพิ่มความต้านทานโรค ควรให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้อาหารครบ 5 หมู่
9. หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ครั้งละ 30 นาที
10. หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยง เช่นควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ อากาศหนาวเย็น เป็นต้น
11. ที่สำคัญควรนำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข
12. วัคซีนเสริมบางชนิดที่ช่วยลดการเกิดโรคปอดบวมในเด็ก ได้แก่
- วัคซีนไอพีดี ซึ่งจะป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลในปีนั้นๆ
*** ระวังอาการถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบนำไปตรวจหรือไปตรวจตามแพทย์นัด ***
ข้อควรจำ
อาการของโรคปอดบวมอยู่ในภาวะป่วยหนักหรือรุนแรง จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ ไม่ยอมกินนมหรือน้ำ ซึมมากปลุกตื่นยาก หายใจมีเสียง หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ภาวะป่วยหนักควรรับการรักษาในโรงพยาบาล
การป้องกันโรค
การป้องกันโรคกลุ่มอาการไข้หวัดและปอดบวมจะเหมือนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เด็กเล็กๆ จะต้องหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไอ โดยไม่ให้อยู่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เป็นหวัดและปอดบวมได้ง่าย คือ การอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่, บ้านที่ใช้ฟืนหุงต้มอาหารและมีควันในบ้าน เด็กทุกคนควรเกิดมาแข็งแรง โดยมารดาต้องมีการวางแผนครอบครัวที่ดี มีลูกเมื่อพร้อม ควรเลี้ยงด้วยนมแม่ อย่างน้อย 4 เดือน นอกจากนี้เด็กทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนคุ้มกันโรคติดต่อตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขด้วย
อ้างอิง : จากสมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก
คำถามที่พบบ่อยโรคปอดบวมในเด็ก
1.หากเด็กมีอาการของปอดอักเสบ ปอดบวม จะเป็นอย่างไร ?
คำตอบ 1. ลูกจะมีอาการเริ่มต้นด้วยการเป็นไข้ ที่มีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ร่วมกับมีการไอ
2.หลังจากที่ลูกมีอาการไข้คล้ายไข้หวัดใหญ่ ก็จะมีอาการของปอดอักเสบ ที่พบว่ามักจะมี ไข้ขึ้นสูง ไอหนักมาก และลูกเริ่มมีอาการหอบเหนื่อย เพลีย ซึม ทานอะไรไม่ได้ ซึ่งหากพบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ ให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที
2. เมื่อเป็นปอดอักเสบ ปอดบวม รักษาอย่างไร ?
คำตอบ 1.การรักษาตามอาการและประคับประคองเช่น ยาแก้ไข้ ยาแก้ไอ หากมีอาการหอบเหนื่อยต้องให้ออกซิเจน หากอาการรุนแรงมากอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
2.การรักษาจำเพาะต่อเชื้อโรค เช่น ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ (ยาทามิฟลู / Tamiflu ) หรือ ยาปฏิชีวนะตามความเหมาะสมต่อเชื้อโรคต้นเหตุของโรคปอดอักเสบปอดบวมนั้นๆ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาชนิดของยาต่างๆรวมทั้งชนิดของยาปฏิชีวนะ ขนาดยา วิธีการให้ยา (เช่น กิน หรือฉีดเข้าเส้น) และระยะเวลาของการใช้ยาอย่างเหมาะสม และไม่ควรซื้อยามาทานเอง