คลินิกโรคกระดูก
หาสาเหตุและการป้องกัน โรคกระดูกพรุน

         ความรุนแรงของโรคกระดูกขึ้นกับสาเหตุ เช่น โรคกระดูกพรุน ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่โรคมะเร็งกระดูก หรือโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมากระดูก มีความรุนแรงสูง และเป็นสาเหตุเสีย ชีวิตได้. ควรรีบปรึกษาแพทย์หากท่านมีอาการทางกระดูก

          โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่มีการสลายของเนื้อกระดูกอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก อันที่จริงความหมายของกระดูกพรุนก็คือการที่มีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงหรือโปร่งบางมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานเป็นปี โดยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ หรือไม่สามารถรู้สึกได้จนกว่าจะเกิดกระดูกหัก หรือเกิดการค่อมโค้งผิดรูปของกระดูกสันหลังเนื่องจากกระดูกทรุดและตัวเตี้ยลงอย่างชัดเจน

เหตุใดจึงต้องให้ความสำคัญต่อโรคกระดูกพรุน
     โรคกระดูกพรุน จัดเป็นปัญหาสาธารณะสุขที่สำคัญของประเทศ โดยที่อัตราการเกิดกระดูกหักเนื่องจากกระดูกพรุนในแต่ละปีมีมากขึ้น ประมาณร้อยละ 50 ของผู้หญิง และร้อยละ 20 ของผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะต้องเกิดกระดูกหักที่เกี่ยวเนื่องกับกระดูกพรุน และมีความเจ็บปวดทรมานจากกระดูกหักบริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ แขนและขา ซึ่งมักจะเป็นผลสืบเนื่องจากการหกล้ม แต่ก็อาจเกิดจากกิจวัตรประจำวันทั่วไปได้ด้วย

เนื่องจากกระดูกเปราะและหักได้ง่าย
     จากข้อมูลการศึกษาพบว่า กระดูกสะโพกหักเป็นภาวะกระดูกหักที่ร้ายแรงและบั่นทอนสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจของผู้ป่วยเองและผู้อยู่รอบข้าง ทั้งที่เดิมที่ผู้นั้นอาจจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่กลับจะต้องเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น หรืออย่างน้อยก็ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไปเป็นระยะเวลานาน และประมาณร้อยละ 50 ที่จะต้องใช้ตลอดไป โดยที่ค่าใช้จ่ายต่อการรักษาหนึ่งรายนั้นสูงมากทั้งในส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเองและในส่วนที่ภาครัฐต้องจ่ายให้

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
     แม้ว่าปัจจับันจะยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าภาวะกระดูกพรุนเกิดจากสาเหตุใดแน่ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่นำไปสู่โรคกระดูกพรุน ดังนี้
     อายุ โดยธรรมชาติ ร่างกายจะมีการสะสมแคลเซียมเข้าในกระดูกเพื่อให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น โดยจะมีความหนาแน่นสูงสุดที่อายุประมาณ 30 ปี และจะคงที่อยู่ระหว่าง 30-40 ปี และมวลกระดูกจะลดลงเรื่อยๆทุกปีหลังจากนั้นจนกระทั่งวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง จะมีการลดลงของมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว และ เมื่ออายุมากกว่า 65ปี มวลกระดูกจะลดต่ำลงจนถึงจุดเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก    
     พันธุกรรม หรือ กรรมพันธุ์ พบว่าคนเชื้อสายคอเคเชี่ยนและเอเชี่ยน (ผิวขาวและผิวเหลือง) มีอัตราเสี่ยงของกระดูกพรุนสูง และ จะเพิ่มขึ้น เมื่อมีประวัติกระดูกหักของผู้สูงอายุในครอบครัว หรือผู้ที่มีรูปร่างผอมบางอยู่แล้ว
     ภาวะโภชนาการและการดำเนินชีวิต ภาวะทุพโภชนาการ การขาดอาหาร น้ำหนักตัวน้อย หรือการรับประทานแคลเซี่ยมในปริมาณต่ำ และภาวะการดูดซึมแคลเซี่ยมไม่ดี ผู้ที่ชอบการดื่มสุราและสูบบุหรี่  ผู้ที่อยู่เฉยๆนั่งๆนอนๆ หรือขาดการออกกำลังกาย
     ยาและโรคประจำตัว ยาที่มีผลต่อกระดูกพรุ่นได้แก่ ยาที่มีสารสเตียรอยด์ ยาเกี่ยวกับโรคต่อมไธรอยด์ โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น