คลินิกหอบหืดในเด็ก
โรคหอบหืดในเด็ก เกิดขึ้นได้อย่างไร

              โรคหอบหืดในเด็ก  เป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจาก หลอดลมของผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากกว่าภาวะปกติ ทำให้หลอดลมหดเกร็งและบวม เนื่องจากการอักเสบ ผู้ป่วยจะไอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังวี๊ดๆ การหอบอาจเกิดขึ้นเป็นๆหายๆและเรื้อรัง

สาเหตุ

          1. กรรมพันธุ์ พบว่าถ้าผู้ป่วยมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว โอกาสที่จะเป็นโรคจะมีมากขึ้น

         2. สิ่งกระตุ้นต่างๆ โดยการหายใจเข้าไป อาหาร หรือ ยาที่รับประทาน เช่น ฝุ่น, ตัวไรฝุ่น, เกสรดอกไม้ หญ้า,ควันบุหรี่, น้ำมันรถ สารเคมี, มลพิษในอากาศ, เชื้อราในอากาศ ,ขนและรังแคสัตว์ เช่น สุนัข แมว, อาหาร เช่น ไข่ นม อาหารทะเล

          3. การออกกำลังกายมากๆ

          4. การติดเชื้อทางระบบหายใจ

          5. การเปลี่ยนแปลงของอากาศ


อาการของโรคหอบหืดในเด็ก

          โรคหอบหืดในเด็กมีอาการที่แตกต่างกันในแต่ละวัน บางวันเด็กอาจมีอาการที่รุนเเรง ในขณะที่บางวันเด็กอาจจะไม่มีอาการเลย หรือมีแต่น้อยมาก อาการของโรคหอบหืดมักมีสาเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นภายในบ้าน ตัวไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ละอองเชื้อรา ขนสัตว์ และควันบุหรี่ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการ ดังต่อไปนี้

         - เมื่อเด็กมีอาการไอเป็นชุด - ประกอบกับการหายใจลำบาก หรือหายใจติดขัด เหนื่อยง่าย และอาการไอจะยิ่งแย่ลงในเวลานอน

           - เด็กจะมีอาการหายใจลำบากหอบเหนื่อย  คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยของท่าน หากมีอาการหายใจที่ช้าและสั้น

           - เด็กที่เป็นปอดบวมบ่อยๆ - เด็กมักมีอาการแย่ลงเมื่อเป็นหวัด หรือหลอดลมอักเสบ

           - เมื่อเสียงหายใจของเด็กมีเสียงวี้ดๆ- คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต เสียงหายใจของเด็กเพราะอาการนี้มักเกิดขึ้นบ่อ


ผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือ โรคภูมิแพ้อื่นๆ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

           1. หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ ต้องจำให้ขึ้นใจว่าตนเองแพ้อะไร

           2. หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ,ควันไอเสียรถยนต์ ,ควันธูป กลิ่นน้ำหอม ,การเปลี่ยนแปลงของอากาศ

           3. ต้องรู้ว่าตัวเองใช้ยาอะไรเป็นประจำ ใช้ยาตามแพทย์สั่ง อย่าหยุดยา หรือ ซื้อยาเอง และมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง

           4. เมื่อเริ่มมีอาการ ควรใช้ยาที่แพทย์สั่งไว้ทันทีตามคำแนะนำ

           5. ปรับสภาพสิ่งแวดล้อมตามคำแนะนำของแพทย์
           6. ควรทำร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง เช่น กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายแต่พอดีเป็นประจำ


ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการหอบ

             - ถ้ามีอาการหอบช่วงที่กำลังวิ่งเล่น หรือ มีอาการเหนื่อยให้หยุดพักทันที

           - หายใจเข้าอย่างปกติ และหายใจออกทางปากโดยค่อยๆเป่าลมออกจากปอดทีละน้อยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้และขณะหายใจออก อาจห่อปากขณะเป่าลมหายใจออกด้วยก็ได้

             - ดื่มน้ำอุ่นๆมากๆ

             - พ่นยา หรือ กินยาแก้หอบตามแพทย์สั่ง ถ้ามียาขยายหลอดลมแบบพ่นชนิดออกฤทธิ์เร็ว ให้พ่น 2 พัฟ ซ้ำได้ 3 ครั้ง ห่างกัน 20 นาที


อาการโรคหอบหืดที่จัดเป็นอันตราย

             คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังอาการของลูก หากอาการของโรคหอบหืดกำเริบ และมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


อาการที่ควรเฝ้าระวัง มีดังนี้

            เมื่อลูกน้อยมีปัญหาในการสื่อสาร เพราะการหายใจของเขาไม่สะดวกและติดขัด เด็กที่มีอาการหายใจถี่ และหายใจขัด เพราะพยายามจะสูดอากาศเข้าปอดและมีอาการหายใจเร็วและเเรง ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้จากบริเวณชายโครงของเด็กที่จะหุบเข้าไปลึกมาก


การวินิจฉัยโรคหอบหืด

             ถึงแม้ว่ากุมารเเพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะสามารถบ่งชี้ถึงอาการของโรคหอบหืดได้ แต่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการสังเกตความผิดปกติของลูกน้อยได้ด้วยเช่นกัน ในการตรวจวินิจฉัยโรคหอบหืดนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้วิธีการ ตรวจการทำงานของปอด ด้วยเครื่องวัดลมหายใจ “ Spirometry” หรือ ตรวจวัดความเร็วของลมหายใจโดยเครื่อง “Peak Flow Meter” แต่ 2 วิธีนี้ แพทย์มักจะใช้ตรวจวินิจฉัยเด็กโตและผู้ใหญ่
             ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยด้วยการวัดระดับ ของ nitric oxide ในลมหายใจของเด็ก จะสามารถบอกถึงการทำงานของปอดว่า ทำงานอย่างสมบูรณ์หรือไม่ และถ้าหากในปอดมีปริมาณของ nitric oxide มากเกินไป แสดงว่า ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่  


การรักษาโรคหอบหืด

            โรคหอบหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลรักษาเพื่อบรรเทาอาการนั้น จะช่วยทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้ดูแลและสังเกตอาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง และจะสั่งยาขยายหลอดลมชนิดพ่นหรือชนิดสูดดมไว้ใช้ในเวลาที่ลูกน้อยมีอาการกำเริบ 


ชนิดและประเภทของยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืด มีดังนี้

        1. ยารักษาในระยะยาว (Controller) หรือยาที่ป้องกันอาการหอบหืด เป็นยาที่ควบคุมโรคระยะยาวและต้องใช้ทุกวัน เพื่อลดการอักเสบของผนังหลอดลมและให้ผลการรักษาที่ดี

           - Inhaled corticosteroids คือ ยาสูดดมหรือยาพ่น เป็นยาที่ใช้ลดอาการอักเสบและเป็นยาที่นิยมใช้

เพื่อรักษาโรคหอบหืด แบ่งเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดต่ำ ขนาดปานกลาง และขนาดสูง แพทย์จะเลือกชนิดยา และปรับขนาดยาตามความรุนแรงของโรค

        - Leukotriene modifiers คือ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืดชนิดที่ไม่รุนเเรง ใช้ร่วมกับ inhaled steroid Cromolyn คือ ยาพ่นเพื่อลดการอักเสบได้ปานกลาง เหมาะสำหรับการเริ่มต้นรักษาในเด็ก โดยใช้พ่น วันละ 2-4 ครั้ง

          - Theophylline คือ ยารักษาโรคหอบหืดที่ใช้รับประทานวันละ 1 เม็ด เพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณ หลอดลม สามารถลดอาการหอบในเวลากลางคืน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในขั้นปานกลางถึงรุนแรง

 

        2. ยาบรรเทาอาการหอบหืดแบบชั่วคราว คือ ยาที่ใช้บรรเทาอาการหอบ ยานี้จะใช้เมื่อมีอาการหอบ แน่นหน้าอก ไอ และหายใจมีเสียงวี้ด ยาจะออกฤทธิ์เร็ว โดยยาจะไปขยายหลอดลม เพื่อให้อากาศสามารถผ่านเข้าไปในปอดได้ดี


   3. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษาโรคภูมิแพ้อีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการรักษาด้วยยา หลักของวิธีการรักษานี้คือการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันโดยการให้ allergenic extract ในความเข้มข้นต่ำ ในระยะแรก และค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นขึ้นทีละขั้นๆ แพทย์จะเป็นผู้ฉีดยาให้กับเด็ก 1 เข็มต่อสัปดาห์ และเพิ่มจำนวนตามลำดับ จนเด็กมีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ และมีอาการดีขึ้น


        4. เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการพ่นยา มีหลากหลายชนิด แต่ละชนิด มีการใช้งานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุและอาการของผู้ป่วย

            - เครื่องพ่นยาแบบละออง ให้เด็กหายใจผ่านหน้ากาก เด็กจะสูดละอองยาเข้าไปในปอด มีผลการรักษาที่ดีกับเด็กเล็ก มากกว่าเครื่องพ่นยาชนิดอื่นๆ

             - อุปกรณ์ที่ส่งปริมาณยาเป็นมิเตอร์ เด็กจะหายใจผ่านทางที่ครอบปาก เป็นจังหวะเพื่อรับยาในปริมาณ

ที่กำหนด เครื่องมือนี้ใช้ในเด็ก 5 ขวบขึ้นไป

         - เครื่องพ่นยาแบบ DPT ใช้ในเด็ก 4 ขวบขึ้นไป ยาจะสามารถผ่านเข้าไปได้เร็วและลึก ควรรับประทานยาหรือใช้ยาตามที่แพทย์ประจำแนะนำ อย่าหยุดยาเองหรือซื้อยามากินเองโดยไม่รู้จักยา และควรมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง สูดยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว อย่างถูกต้องตามวิธีการ หากอาการดีขึ้นให้พ่นยาทุก 4 - 6 ชั่วโมงต่ออีกประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์