คลินิกไข้สูง
เมื่อลูกน้อยเป็นไข้...

         ทุกครั้งเมื่อลูกมีไข้นับเป็นความกังวลใจของพ่อแม่ และ หากยิ่งลูกมีไข้สูงถึง 39.5 องศาขึ้นไป ก็ยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ปกครองของเด็ก ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเตรียมตัวเพื่อป้องกันลูกน้อยให้ปลอดภัย

         ไข้ เป็น อาการที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เกิดขึ้นร่วมกับความเจ็บป่วยในร่างกาย แสดงว่าเกิดการสูญเสียความสมดุลภายในร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถ้ามีไข้สูง39-40 องศาเซลเซียส อาจเกิดอาการชักจากไข้สูงได้ อาการชักส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่เริ่มมีไข้ถ้าอาการชักเกิดขึ้นในวันหลังๆมักมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะติดเชื้อระบบประสาท เป็นต้น 

สาเหตุของไข้

             1. การติดเชื้อ เช่น การอักเสบของทางเดินหายใจ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
             2. การที่ร่างกายทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอม เช่น หลังการฉีดวัคซีน

             3. ร่างกายขาดน้ำ เช่น อุจจาระร่วง อุณหภูมิภายนอกร่างกายสูงมากๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

             4. ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผล


         สาเหตุเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้มีการหลั่งสารกระตุ้นสมองส่วนหน้าให้ตั้งระดับอุณหภูมิสูงขึ้น ร่างกายตอบสนองโดยพยายามเพิ่มอุณหภูมิและเพิ่มความร้อนจากการเพิ่มอัตราการเผาผลาญของเซลล์และการสั่นของกล้ามเนื้อ และลดการระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยการตีบตัวของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนมีค่าเท่ากับที่ตั้งไว้ใหม่ คือ ทำให้เกิดอาการไข


ขั้นตอนการเกิดไขมี 3 ระยะ

         1. ระยะหนาวสั่น  เป็นระยะเริ่มต้นของการมีไข้ หยุดการขับเหงื่อ เกิดการกระตุ้นกลไกการสร้างความร้อนให้ทำงานมากขึ้นโดยการสั่นของกล้ามเนื้อร่วมกับการหดตัวของหลอดเลือดที่ผิวหนัง ดังนั้น ขณะสั่นจึงรู้สึกหนาวร่วมด้วย เพราะอุณหภูมิผิวหนังลดลงเนื่องจากเลือดไหลมาน้อย โดยเฉพาะปลายมือปลายเท้าจะเย็น ระยะเวลาในการสั่นอาจแค่ 2-3 นาที หรือนานเป็นชั่วโมงขึ้นกับสาเหตุ เมื่ออุณหภูมิสูงถึงระดับที่กำหนดใหม่แล้วกลไกดังกล่าวจะหยุดทำงานไม่เกิดความรู้สึกร้อนหรือหนาวทั้งๆที่อุณหภูมิร่างกายสูง
          2. ระยะไข้  เมื่อมีการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย ผิหนังอุ่น หน้าแดง รู้สึกร้อน การเผาผลาญมาก ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ร่างกายขาดน้ำ หากเกิดเป็นเวลานานเนื้อเยื่อร่างกายถูกทำลายจะอ่อนเพลียปวดเมื่อย กล้ามเนื้อไม่มีแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการซึม กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เพ้อ ประสาทหลอนและมีอาการชักได้
             3. ระยะไข้ลด  เมื่อสาเหตุของไข้ถูกกำจัดไปแล้ว อุณหภูมิร่างกายจะลดลง ลดการสร้างความร้อนภายในร่างกาย เลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น มีการหลั่งเหงื่อมากขึ้น


ผลกระทบของการมีไข้

                ระบบประสาท ทำให้ปวดศีรษะ ซึม กระสับกระส่าย ในเด็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้ และอาการชักอาจส่งผลกระทบต่อสมองได้ หากอาการชักจากไข้สูงเกิดเป็นเวลานาน หรือชักบ่อย จะทำให้สมองขาดออกซิเจน  สมองพิการ มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก
                ระบบไหลเวียน อัตราการบีบตัวของหัวใจมากขึ้น เพิ่มการทำงานของหัวใจ
                ระบบย่อยอาหาร เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง การดูดซึมอาหารไม่ดี เสียน้ำทางเหงื่อและทางการหายใจมากขึ้น ทำให้มีอาการท้องผู
                ระบบทางเดินปัสสาวะ พบว่าปัสสาวะน้อยละเนื่องจากเสียน้ำมากจากกระบวนการระบายความร้อนออกจากร่างกาย
                การเผาผลาญของร่างกาย เพิ่มมากขึ้น


วิธีการลดไข้


           
1. การให้ยาลดไข้ ยาลดไข้ที่ดีที่สุดคือยาพาราเซตามอล เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงน้อย และไม่ระคายเคืองต่อ
กระเพาะอาหาร

            2. การเช็ดตัวลดไข้ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ ควรป้อนยาลดไข้ทันที  เมื่อมีไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้จะออกฤทธิ์ลดไข้หลังรับประทานยา 30 นาทีและออกฤทธิ์สูงสุด ชั่วโมง คงสภาพได้ 4 ชั่วโมง ดังนั้นหากไข้สูงระหว่างมื้อยา ให้เช็ดตัวลดไข้ หากมีอาการหนาวสั่นควรให้ความอบอุ่นก่อนแล้วจึงเช็ดตัว

            3. ดื่มน้ำมากๆ ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำผลไม้ กระตุ้นให้ดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากพิษไข้
            4. ใส่เสื้อผ้าโปร่ง สวมใส่สบาย ประเภทผ้าฝ้าย ไม่ควรใส่เสื้อผ้ายืดเพราะไม่ระบายความร้อน ไม่ควรใส่เสื้อผ้า
หนาหรือห่มผ้าหนาๆ
            5. อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก 


วิธีการเช็ดตัวลดไข้

            1.  เตรียมของใช้และน้ำให้พร้อม
            2.  ใช้น้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำแข็งเช็ดตัว เพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัว และระบายความร้อน
ออกได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่นและเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อจากการหนาวสั่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไข้กลับได้

            3.  ปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อไม่ให้เด็กหนาวสั่นขณะเช็ดตัว
            4.  ถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้หมด
            5.  ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำให้ชุ่ม เช็ดบริเวณหน้า ลำตัว แขน ขา พักผ้าไว้บริเวณศรีษะ ซอกคอ ซอกรักแร้
ขาหนีบ เพื่อระบายความร้อน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่รวมของเส้นเลือดจะระบายความร้อนได้ดี

            6.  เช็ดจากปลายมือ ปลายเท้าสู่ลำตัวโดยเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน
            7.  ขณะเช็ดตัวให้ออกแรงเหมือนถูตัว เพื่อจะช่วยให้เลือดลมเดินดีขึ้น ทำให้เส้นเลือด และ รูขุมขนขยายตัว
            8.  ถ้ามีอาการหนาวสั่นให้หยุดเช็ดตัวทันที เพราะถ้าเช็ดแล้วหนาวสั่นจะยิ่งทำให้ไข้สูงขึ้นได้
            9.  เปลี่ยนผ้าชุบน้ำบ่อยๆ ทุก 2 – 3 นาที
           10. ใช้เวลาเช็ดตัวประมาณ 10 – 15 นาที
           11. หลังเช็ดตัว ควรซับตัวเด็กให้แห้ง แล้วสวมเสื้อผ้าเบาสบาย ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หนา หรือห่อตัวเพราะจะ
ทำให้ความร้อนเพิ่มขึ้น

           12. วัดไข้ซ้ำในอีก 15 – 30 นาทีต่อมา
           13. ถ้าไข้ลดลง แสดงว่าการเช็ดตัวลดไข้ได้ผล
           14. ถ้าไข้ไม่ลด ให้เช็ดตัวลดไข้ใหม่อีกครั้ง
           15. ถ้าไข้ยังไม่ลดลงอีก ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ 


การดูแลที่สำคัญ  

           1. เมื่อเด็กเริ่มมีไข้ ควรป้องกันการชักด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น
           2. ให้เด็กนอนพักในขณะเช็ดตัวและหลังเช็ดตัวเพื่อลดการเผาผลาญในร่างกายให้น้อยลง
           3. ใช้ปรอทวัดอุณหภูมิร่างกาย ถ้าสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือสัมผัสร่างกายแล้วยังร้อนจัด ควร
เช็ดตัวซ้ำอีก

           4. ให้รับประทานยาลดไข้ถ้าอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
           5. พยายามให้เด็กดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มบ่อบๆ เพื่อชดเชยการเสียน้ำจากไข้สูง และดื่มน้ำระหว่างเช็ด
ตัวลดไข้

           6. ให้อาหารน้อยๆแต่บ่อยครั้ง เนื่องจากเด็กเบื่ออาหาร
           
7. ทำความสะอาดปากและฟันหรือจิบน้ำบ่อยๆเพื่อให้เยื่อบุชุ่มชื้น ช่วยระงับกลิ่นปาก ป้องกันแผลและการติดเชื้อในปาก และส่งเสริมความอยากอาหารของเด็ก

           8. ถ้าเด็กมีอาการชัก ให้จับนอนตะแคงหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้เสมหะ น้ำมูก น้ำลายไหลได้สะดวก ป้องกัน การสำลัก ห้ามป้อนยาเด็กในขณะที่ยังมีอาการชัก และแม้เด็กจะหยุดชักแล้ว ก็ควรนำไปตรวจที่โรงพยาบาลเพราะอาจมีความผิดปกติของสมองตามมาได้ 

คำถามที่พบบ่อยเวลาลูกไข้สูง

          1.เมื่อพบว่าลูกมีไข้สูง กลัวว่าลูกจะชัก คุณแม่ควรทำอย่างไร
          คำตอบ  ขั้นแรก อย่าตกใจหรือวิตกจนทำอะไรไม่ถูก, ควรจะให้ทานยาลดไข้ ถ้าทานไม่ได้เพราะเด็กอาเจียน หรือไม่ยอมทานยาก็อาจจะต้องใช้ยาลดไข้ชนิดเหน็บก้น และเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำก็อกธรรมดาหรือแม้แต่นำเด็กไปอาบน้ำ, แช่น้ำอุ่น เพื่อช่วยลดไข้ แต่ ในรายที่เคยมีประวัติชักจากไข้สูง ควรพิจารณาให้ยากันชักตามที่แพทย์ได้แนะนำไว้ก่อน และ พาลูกไปพบแพทย์

          2. ควรเช็ดตัวเด็กบ่อยแค่ไหน, เช็ดตัวอย่างไรจึงถูกวิธี
         คำตอบ  การเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้นั้นสามารถทำได้บ่อยๆ ถ้าพบว่าลูกตัวร้อนจัด การให้แต่ยาลดไข้ทานเพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะไม่เพียงพอที่จะคุมเรื่องไข้ได้ เนื่องจากยาที่ทานเข้าไป จะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง กว่าจะดูดซึม และออกฤทธิ์ทำให้ไข้ลง (ประมาณ 30 นาที) ซึ่งในระหว่างที่รอให้ยาออกฤทธิ์นั้น เด็กบางคนอาจจะเกิดอาการชักจากไข้สูงได้ จึงควรทำการเช็ดตัวเด็กด้วยน้ำอุ่นสบาย โดยใช้ผ้าเช็ดหน้าขนาดพอเหมาะ จุ่มในน้ำอุ่น (ถ้าไม่มีน้ำอุ่น ก็ใช้น้ำก๊อกธรรมดาแทนได้ แต่บางครั้งเด็กอาจจะรู้สึกหนาวสะท้าน) บิดให้แห้งหมาดๆ และเช็ดถูไปทั่วตัวโดยเฉพาะบริเวณที่เลือดไหลเวียนมาก เช่น บริเวณซอกคอ ลำตัวทั้งหน้าและหลัง หน้าผาก ฯลฯ ใช้เวลานานประมาณ 10-15 นาทีได้ หรือถ้าเด็กไม่ยอมให้เช็ดตัว ก็อาจพาเข้าห้องน้ำ ไปแช่น้ำอุ่น เพื่อให้ไข้ลดลง จะดีกว่าการเอาแผ่นเจลเย็นชิ้นเล็กๆมาแปะไว้ที่หน้าผากเพื่อลดไข้ เพราะแผ่นเจลเย็นจะไม่สามารถนำความร้อนออกจากร่างกายได้ดีเท่ากับการเช็ดตัว

          3.ภาวะชักจากไข้สูงจะมีลักษณะเป็นอย่างไร
          คำตอบ  ผู้ป่วยจะมีอาการชักแบบเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว อาการนี้จะเกิดขึ้นขณะที่มีไข้สูง โดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอาการนี้จะพบในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ไปจนกระทั่ง 5-6 ปี แต่มักจะพบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กที่มีช่วงอายุประมาณ 1-2 ปี

         4.ยาลดไข้ธรรมดากับ ยาลดไข้สูงต่างกันยังไง ให้ลูกเลือกกินแบบไหนดี

       คำตอบ  ยาลดไข้ธรรมดา ชื่อ paracetamol ส่วนยาลดไข้สูง ชื่อ ibuprofen โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ยา paracetamol เพราะเป็นยาสามัญประจำบ้าน และปลอดภัยมากกว่า ส่วนยา ibuprofen มีผลข้างเคียง และห้ามใช้ในกรณีที่เด็กเป็นโรคที่มีความเสี่ยงต่อเลือดออก เช่น โรคไข้เลือดออกที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้