คลินิกปวดข้อ
สาเหตุและอาการปวดตามข้อ

          ปวดข้อ อย่ารอนาน!!! ปัญหาปวดข้อไม่ใช่เรื่องปกติไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยใด สาเหตุการปวดข้อเกิดจากหลายประการ ควรรีบปรึกษาแพทย์ อย่าปล่อยช้าอาจเกิดเรื่องใหญ่เปลี่ยนแปลงชีวิตได้


การปวดข้อคืออะไร?
          อาการปวดข้อสามารถมีผลต่อบริเวณต่างๆ มากมายของร่างกาย เช่น นิ้วมือ ข้อมือ นิ้วเท้า หรือเข่า และมักจะมีอาการขยับข้อได้ไม่เต็มที่ (ฝืดข้อ) กดเจ็บ และบวม อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อม (ข้ออักเสบชนิดที่พบบ่อยที่สุด) อาจจะมีอาการอักเสบของข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่าร่วมอยู่ด้วย และเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน 
         ยกตัวอย่างเช่น ในโรคข้อเสื่อม กระดูกอ่อน (เนื้อเยื่อลักษณะเหมือนฟองน้ำที่หุ้มข้อ) ถูกทำลาย และความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองลดลง ทำให้กระดูกอ่อนที่หุ้มข้อนั้นสึกและบางลงตามกาลเวลา การเสียดสีของกระดูกที่ถูกเปิดออกทำให้เกิดอาการอักเสบ อาการปวด และกระดูกจะงอกเข้าไปในข้อ ทำให้ข้อฝืด และเคลื่อนไหวลำบาก 
ประเภทของข้อต่อที่มักจะได้รับผลกระทบจากอาการปวด คือ ข้อต่อบริเวณกระดูกก้นกบกับกระดูกเชิงกราน เข่า สะโพก และหัวไหล่ ข้อต่อกระดูกสันหลังกับกระดูกเชิงกราน จะอยู่ตรงบริเวณระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บ และกระดูกเชิงกราน จะอยู่ต่ำกว่ากระดูกสันหลังส่วนเอว และอยู่เหนือกระดูกก้นกบ ซึ่งรองรับน้ำหนัก ของร่างกายส่วนบนทั้งหมดไปยังเชิงกราน สะโพก และขา อาการปวดข้อสะโพกสามารถเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน และสั้น (เฉียบพลัน) หรือเรื่อยๆ และยาวนาน (เรื้อรัง) อาการปวดข้อไหล่ค่อนข้างที่จะรุนแรงน้อยกว่า (ปวดจี๊ดน้อยกว่า) และเป็นการปวดจากอาการอักเสบ หรืออาการเจ็บของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ และความตึงของกล้ามเนื้อระหว่างคอ และไหล่ ในบรรดาข้อต่อทั้งหมด ข้อเข่าน่าจะเป็นข้อที่พบว่าสึกหรอบ่อยที่สุด และมีอาการปวดได้ง่ายที่สุด

รู้หรือไม่ว่า?
         ข้อต่อชนิดมีไขข้อ ที่ใช้ในการเคลื่อนไหวได้มาก (Synovial joint) มี 6 ชนิด คือ ข้อต่อชนิดเบ้ากลม / หมุน / เลื่อน / อานม้า / บานพับ / วงรี

อาการปวดข้อมีผลต่อคุณอย่างไร
         ข้อต่อจะต้องรับมือกับแรงกระแทก และการสึกหรออย่างต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ข้อเข่าจะมีอาการปวด และสึกหรอได้ง่ายเป็นพิเศษ เนื่องจากมันรองรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย และแรงกระแทก ที่เพิ่มขึ้นเมื่อวิ่ง หรือกระโดด คนเราจะมีโอกาสปวดเข่ามากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น และคนที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรือเล่นกีฬาเยอะๆ มีโอกาสเสี่ยงต่อการทำร้ายหัวเข่าตัวเองสูง ยกตัวอย่างเช่น นักวิ่งมักจะมีปัญหากับอาการปวดเข่า และข้อเท้า เพราะกีฬาของพวกเขาเกี่ยวข้องกับการใช้งานด้วยแรงกระแทกสูงอย่างต่อเนื่องของร่างกายกับพื้นดิน ในบางกรณี อาการปวดเข่าสามารถปวดร้าว (ปวดเชื่อมต่อ) ไปที่เท้า และคุณอาจมีความรู้สึกปวดเสียวคล้ายเข็มทิ่ม (ยิบๆ ซ่าๆ) หรือมีความรู้สึกชาๆ 
         ผู้ที่มีปัญหาจากอาการปวดรอยต่อของกระดูกก้นกบกับกระดูกเชิงกราน (Sacroiliac joint) อาจจะรู้สึกมีอาการเมื่อโน้มตัว หรือ เมื่อยืนขึ้นหลังจากนั่งเป็นเวลานาน อาการปวดอาจจะร้าวลงสะโพก ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ใช้ร่างกายได้ อาการปวดข้อสะโพกมักจะสะท้อนถึงบริเวณขาหนีบ แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดในบริเวณก้นได้เช่นกัน และอาจจะเป็นหนักขึ้นขณะลุกจากเก้าอี้ หรือขึ้นบันได สำหรับคนบางคนอาการปวดเข่าสามารถเป็นอุปสรรคในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน การขึ้นบันได หรือการถือของหนักได้ คนที่มีอาการปวดข้อไหล่ อาจจะมีปัญหาในการยกของ มีอาการเจ็บปวดลึกในเวลากลางคืน และมีภาวะข้อไหล่ติด ลักษณะเฉพาะคือการเคลื่อนไหวที่จำกัด และอาการปวดในข้อไหล่

สาเหตุ
         สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดข้ออาจเกิดจาก ข้อเสื่อม แพลง หรือร้าวจากการได้รับบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุ ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดอาการปวดข้อได้แก่ ข้อต่อที่สึกหรอ (เสียหาย / แตกหัก) มาจากการบาดเจ็บ หรือจากการผ่าตัด ความบกพร่องทางพันธุกรรม โครงสร้างทางกายวิภาคของข้อต่อที่ได้รับผลกระทบ และโรคอ้วน เนื่องจากข้อต่อต้องแบกรับแรงกระแทกจากน้ำหนักส่วนเกิน

อาการ
         ข้อต่ออาจจะกลายเป็นตะปุ่มตะป่ำบริเวณรอบๆ กระดูก ก่อตัวขึ้นเป็นปุ่มกระดูกที่เรียกว่า osteophytes (กระดูกงอก) เมื่อกระดูกหนาขึ้น และขยายมากขึ้น ข้อต่อจะมีอาการฝืด เจ็บปวด และขยับลำบาก นอกจากนี้ยังอาจเกิดการสะสมของของเหลวในข้อต่อเนื่องจากการอักเสบ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการบวม ระดับของอาการปวดข้ออาจจะแตกต่างกันไปได้ตั้งแต่ ไม่บ่อยนัก ถึงขั้นรุนแรงและยากที่จะจัดการ
         อาการยังสามารถรวมถึงความรู้สึกชาเฉียบพลัน หรือปวดเสียวคล้ายเข็มทิ่ม (ยิบๆ ซ่าๆ) เป็นไข้ เคลื่อนไหวได้น้อยลง และอาการฝืดในข้อที่ได้รับผลกระทบ อาการอื่นๆ ของอาการปวดข้ออาจจะเป็นอาการข้อติด และขาดความลื่น คือการที่ข้อติดอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือคุณรู้สึกว่ามีอะไรติดอยู่ในข้อขณะที่กำลังทำท่าบางท่าอยู่

การวินิจฉัยโรค
          อาการปวดข้อสามารถรักษาได้โดยยาต้านการอักเสบเพื่อลดอาการอักเสบ และบรรเทาอาการปวด หากมีอาการบวม แดง กดเจ็บ และอุ่นบริเวณข้อต่อร่วมด้วย ก็จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ ที่อาจแนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ หรือสั่งตรวจเพิ่มเติมอีกหนึ่งรายการหรือมากกว่า เช่น X-ray (การตรวจเอกซเรย์), MRI (การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า), CT scan (การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์) หรือการตรวจเลือด เพื่อช่วยในการตรวจสอบแหล่งที่มาของอาการปวด และช่วยในการรักษาข้อที่กำลังปวด