คลินิกนิ่วในถุงน้ำดี
”การปวดท้องอย่างรุนแรง”

          อาจแค่ปวดไม่มากเดี๋ยวเดียวก็หาย หรือปวดมาก และรุนแรงมาก อาการปวดมักจะไม่จำเพาะเจาะจง อาจจะสัมพันธ์กับอวัยวะในช่องท้องโดยตรง เช่น กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ อาการปวดท้องทั่วไป เกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ 

         การปวดท้องอย่างรุนแรง สัญญาณอันตรายหลักของอาการนิ่วในถุงน้ำดี ควรรีบปรึกษาแพทย์โรคนิ่วในถุงน้ำดี  เป็นโรคที่พบได้บ่อย มักพบในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
        - ปัจจัยเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี
         - อาการของนิ่วในถุงน้ำดี
        - การวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี
         - แนวทางการรักษานิ่วในถุงน้ำดี
           ถุงน้ำดี : ทำหน้าที่เหมือนอ่างเก็บน้ำ ซึ่งทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้น พร้อมใช้งานเวลาที่มีอาหารลงมาถึงทางเดินอาหารส่วนต้น ถุงน้ำดีจะบีบตัวให้น้ำดีออกมาคลุกเคล้ากับอาหาร
         น้ำดี: สร้างจากตับ ไหลลงมาตามท่อน้ำดี ร่วมทำหน้าที่จับกับไขมันในอาหาร เพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

นิ่วในถุงน้ำดี

         นิ่วในถุงน้ำดี เป็นชิ้นส่วนแข็งที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี ชิ้นส่วนเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อส่วนประกอบของน้ำดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) ตกตะกอนผลึกเป็นก้อนคล้ายกับน้ำตาลที่ตกตะกอนอยู่ด้านล่างของขวดน้ำเชื่อม โดยก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นนี้อาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ และอาจมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนจนถึงหลายร้อยก้อนก็เป็นได้

ชนิดของนิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดีมี 2 ชนิด หลัก ได้แก่
        ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (cholesterol stones) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยประมาณ 80% ของนิ่วในถุงน้ำดีทั้งหมด มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในน้ำดี หรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบีบสารออกได้หมด
        ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าและมีสีคล้ำกว่าชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD

ปัจจัยเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี

          พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มากขึ้น
           - ภาวะอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลมาก เนื่องจากความอ้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มขึ้น
          - ฮอร์โมนเอสโตรเจนและการตั้งครรภ์ มีผลเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลและลดการเคลื่อนตัวของ ถุงน้ำดี ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ่วใน ถุงน้ำดีได้
           - เพศและอายุ โรคนิ่วในถุงน้ำดีพบมากในเพศหญิงและผู้สูงอายุ
     - โรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะมีระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และถุงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อยในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
         - การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น รวมถึงถุงน้ำดีจะ  บีบตัวลดน้อยลง น้ำดีจึงค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น โอกาสเกิดการตกตะกอนก็มากขึ้น
           - อาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูงและเส้นใยต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี
        โดยทั่วไปแล้วนิ่วในถุงน้ำดีไม่ก่อให้เกิดอาการ ผู้ป่วยมักจะทราบว่าเป็นโรคก็เมื่อมาตรวจสุขภาพหรือพบแพทย์ด้วยปัญหาสุขภาพอื่น แต่เมื่อมีอาการเกิดขึ้น อาการที่อาจพบได้ ได้แก่ ปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวา โดยมีระยะเวลาปวดตั้งแต่ 15 นาทีถึงหลายชั่วโมง และอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณกระดูกสะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา
        - อาเจียน
        - คลื่นไส้
        - อาการทางระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมัน
        - หากมีอาการของถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะทำให้มีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา และอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้มได้

การวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

         - การซักประวัติอาการและการตรวจร่างกาย
         - การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ
         - การทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน 
        - การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography : ERCP) จะทำในกรณีที่สงสัยว่ามีนิ่วในท่อน้ำดี
        - การใช้เข็มเจาะผ่านตับเข้าไปในท่อน้ำดี (percutaneous transhepatic cholangiography: PTC)  จะทำในกรณีท่อน้ำดีอุดตัน   
แนวทางการรักษานิ่วในถุงน้ำดี
         - การผ่าตัดถุงน้ำดี
         - การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง
         - การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง (laparoscopic cholecystectomy)
        - การส่องกล้องตรวจรักษาท่อน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography; ERCP) ในกรณีที่มีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย
 อาการข้างเคียงภายหลังจากการผ่าตัดถุงน้ำดี
        เนื่องจากถุงน้ำดีเป็นเพียงตัวเก็บพักน้ำดี ในกรณีที่ผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก น้ำดียังคงถูกสร้างจากตับและไหลลงมาตามท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยไขมันตามปกติ เพียงแต่อาจไม่เข้มข้นเท่าเดิม ทั้งนี้พบว่า 10% ของคนที่ไม่มีถุงน้ำดีอาจมีอาการท้องเสียจากน้ำดีไหลออกมามากเกินไปได้
         สำหรับการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้องควรทำโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตัดโดนท่อน้ำดี ท่อน้ำดีรั่ว หรือท่อน้ำดีตันได้